หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การจัดการทรัพยากรชายฝั่งท่าศาลาโดยชุมชน : จากข้อเสนอสมัชชาสุขภาพจังหวัดสู่ข้อบัญญัติท้องถิ่น

การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ประเด็น “การจัดการทรัพยากรชายฝั่งท่าศาลาโดยชุมชน” เริ่มจากการศึกษาสถานการณ์การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง: องค์กรชุมชนกับการฟื้น ‘เลหน้าบ้าน’ การร่วมเรียนรู้บทเรียนจากพื้นที่เล็กๆ สู่การตอบคำถามสำคัญของสังคมเรื่องรูปแบบบ้านสัตว์น้ำ เพื่อการอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วม และการศึกษานโยบายรัฐที่เอื้อต่อการจัดการทรัพยากรชายฝั่งโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งจากประสบการณ์การเรียนรู้นับกึ่งทศวรรษของชุมชนบ้านสระบัวประกอบ ประกอบกับการร่วมศึกษาและพัฒนาการจัดการทรัพยากรชายฝั่งร่วมกับภาครัฐ/ท้องถิ่น ประมงจังหวัด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นปากพูนและท่าศาลา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราชและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับการส่งเสริมให้เกิดการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน และมีการร่างข้อเสนอเชิงนโยบายใน ๔ ระดับ คือ ระดับชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด และประเทศ โดยเฉพาะข้อเสนอต่อท้องถิ่น ที่มีข้อเสนอสำคัญ ๕ ข้อ คือ ๑) ออกกฎระเบียบข้อบัญญัติโดยศึกษาข้อมูลทางวิชาการรองรับ เช่น การวิจัย โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ๒) สร้างกลไกสนับสนุน ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากร ๓) จัดสรรงบประมาณสนับสนุน โดยให้อิสระแก่ชุมชนในการกำหนดการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์และความเข้มแข็งของชุมชน ๔) จัดตั้งหน่วยที่รับผิดชอบ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร และให้มีส่วนร่วมจากชุมชน เช่น การปราบปรามและการติดตามการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย การเฝ้าระวัง (มีเครื่องมือสื่อสารวิทยุ) และ ๕) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ใน
บริเวณชายฝั่งตามศักยภาพความเหมาะสมของพื้นที่โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการสัญจรทางน้ำ
ร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย ประเด็น “การจัดการทรัพยากรชายฝั่งท่าศาลาโดยชุมชน” ถูกนำเข้าพิจารณาเพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และพิจารณาแบบมีส่วนร่วมจากสมาชิกเครือข่าย องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ๓ ภาคส่วน ในสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครศรีธรรมราช ๒๕๕๑ ที่มีการจัดห้องย่อยพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายพร้อม ๆกับร่างข้อเสนอเชิงนโยบายอีก ๒ ประเด็น คือ เกษตรที่เอื้อต่อสุขภาพ และอาสาสมัครสร้างสุขชุมชน เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชและมีการมอบข้อเสนอที่ผ่านการรับรองจากที่ประชุมใหญ่ต่อตัวแทนภาคประชาชน ภาครัฐ และท้องถิ่น
จากข้อเสนอเชิงนโยบายที่ผ่านการรับรองในสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครศรีธรรมราชปี ๒๕๕๑ ในปี ๒๕๕๒ คณะทำงานสมัชชาสุขภาพประเด็นการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ได้ดำเนินการเพื่อติดตามผลักดันข้อเสนออย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลสำเร็จที่ผ่านมา คือ การทำ “บ้านสัตว์น้ำ” และการใช้ระเบิดชีวภาพเพื่อปรับปรุงสภาพหน้าดิน และที่สำคัญคือการผลักดันให้มีการออก ข้อบัญญัติ อบต.ท่าศาลา ว่าด้วย การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน พ.ศ. ๒๕๕๒ ทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลา คณะทำงานสมัชชาสุขภาพ นักวิชาการ และองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา โดยนายก อบต.ท่าศาลาได้แต่งตั้งคณะทำงานจากหลายภาคส่วนเพื่อยกร่างข้อบัญญัติ และมีเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อปรับปรุงร่างข้อเสนออย่างต่อเนื่องถึง ๘ เวที (เวทีระดับตำบล ๖ เวที เวทีระดับจังหวัด ๒ เวที)
และมีเวทีประชาพิจารณ์ข้อบัญัติ ๑ เวที ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในการประชุมสภาสมัยวิสามัญ ของ อบต.ท่าศาลา ซึ่งข้อบัญญัติดังกล่าวผ่านการรับรองเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน ๒๙ เสียง จากสมาชิกสภา อบต. ๓๐ คน เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๒ โดยในการออกข้อบัญญัติ มีเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ภายใต้นโยบายสาธารณะและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเน้นที่ ๓ จุดหลัก คือ ๑) กระบวนการเฝ้าระวังแบบมีส่วนร่วม ๒) การออกกติกา ข้อบัญญัติ ประกาศจังหวัด และ ๓) แผนการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง

สุริยะ จันทร์แก้ว อำนวยโชค เวชกุล ภูมิชัย สุวรรณดี ทรงวุฒิ พัฒแก้ว รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น