หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

จิตสำนึกเพื่อการปฏิบัติสาธารณะประโยชน์

มีการกล่าวถึงคำว่าจิตสำนึกหรือและจิตสาธารณะกันมาก เพราะเชื่อกันว่าถ้าใครมีจิตสำนึกแล้วจะส่งผลต่อการกระทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือสิ่งที่ดี อย่างไรก็ตามเราก็ยังพูดกันว่าคนยังขาดจิตสาธารณะหรือจิตสำนึกดังกล่าวอยู่มาก แสดงว่าการพูดว่าให้มีจิตสำนึก จิตสาธารณะก็ไม่ค่อยส่งผลในทางปฏิบัติที่คาดหวังเท่าที่ควร การมีจิตสำนึกที่แท้จริงแล้วไม่ใช่อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรให้ใครเดือดร้อน แต่ควรจะต้องทำอะไรให้ดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ถือว่าเป็นการทำความดีที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น


บ่อยครั้งที่เฝ้าสังเกตุนักเรียนนักศึกษาของเราพบว่ามีค่านิยมในการทำความดีที่ปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมมีน้อย จนไม่อาจที่จะกล่าวว่ามีจิตสาธารณะ เพราะยังรู้สึกอายที่จะทำความดีอยู่ก็มี แต่ไปรู้สึกว่าเท่ห์หรือไม่รู้ไม่ชึ้ธุระไม่ใช่เสียมากกว่า เราจึงเห็นเศษกระดาษเศษขยะเกลื่อนไปหมดหลังจากเลิกงานหรือเสร็จจากการจัดกิจกรรมต่างๆ เราพบว่ามีการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตราย หรือเห็นสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายเป็นพิษเป็นภัยต่อผู้อื่น และเห็นคนตกทุกข์ได้ยาก คนที่ถูกทอดทิ้งอยู่อีกมาก ทำอย่างไรที่ไม่อายที่จะทำความดีแต่กล้าและแข่งกันทำความดี และมองว่าเมื่อเขามีความสุขเราก็มีความสุข อาจจะคิดได้ว่าถ้าคนรอบข้างมีความทุกข์แล้วเราจะมีความสุขอยู่ได้อย่างไร

ตัวอย่างที่น่าชื่นชมเป็นอย่างมากสำหรับนักศึกษาที่มาขอทำความดี แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาถ้าจำไม่พลาดคือวิชาพัฒนาพฤติกรรมทรัพยากรมนุษย์ ที่ผู้สอนกำหนดให้นักศึกษาไปทำความดีอะไรก็ได้ราว 200 รายการ การที่นักศึกษาไปของานทำโดยไม่เรียกร้องสิ่งใดตอบแทนถือว่าเป็นผู้มีน้ำใจมีความกรุณา หากได้ปฏิบัติบ่อยๆจนเป็นวิถีชีวิต เป็นปกติธรรมดาแม้ว่าไม่ได้เรียนรายวิชาดังกล่าวแล้วก็ยังเป็นคนมีน้ำใจมีความกรุณาอยู่เป็นนิจ ก็ถือได้ว่ามีจิตสำนึกที่แท้จริง พบอะไรที่ช่วยเหลือได้ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ได้แก่สาธารณะก็ทำโดยไม่ต้องมีคนมาบอกน่าจะเป็นผลสำเร็จสูงสุดของรายวิชานี้ และจากการปฏิบัตินักศึกษาจะพบว่าไม่ว่าจะปฏิบัติเพื่ออะไร จะพบว่าความรู้ที่แท้จริงได้จากการปฏฺบัติ แค่คิดแต่ไม่กระทำก็ไม่รู้ว่าผิดว่าถูก ไม่รู้ว่าดีหรือเลว แต่การที่ได้กระทำสิ่งที่ดีๆนับเป็นความกล้าหาญทางจริยธรรม และจะไม่กระทำให้สิ่งที่เป็นโทษพิษภัยแก่ตนเองและผู้อื่นได้ในที่สุด

การได้ลงมือปฏิบัติทำความดี ทำในสิ่งที่มีประโยชน์ถือว่าเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติได้สัมผัสจับต้องได้ จากสิ่งที่เป็นรูปธรรมทั้งหลายนำไปสู่การเข้าใจในเรื่องนามธรรม เช่นเดียวกับการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ให้นักเรียนได้สำรวจสัมผัสจับต้องกับวัตถุอันเป็นสื่อการเรียนรู้ ให้มีการปฏิบัติทดลองแล้วนำไปสู่การเข้าใจเนื้อหาที่ได้ทดลอง ทำให้เข้าใจหรือเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น