หน้าเว็บ

วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ควันหลงอุษาคเนย์

ได้มีโอกาสฟังเรื่องอุษาคเนย์จากวิทยากร ที่ไม่ตรงกับที่ตั้งใจว่าจะไปฟัง และได้ทราบว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะการสื่อสารที่ผิดพลาดอะไรสักอย่าง (communication breakdown) เนื่องจากวิทยากรเป็นผู้สอนด้านรัฐศาสตร์การเมืองในออสเตรเลีย ตัวอย่างเปรียบเทียบการเมืองในออสเตรเลียที่แตกต่างจากชาวอุษาคเนย์ ซึ่งเป็นมุมมองที่ดูว่าชาวอุษาคเนย์ ในยุคแรกๆ และแม้ปัจจุบันก็ตาม ที่ไม่ได้ยอมรับว่าตัวเอง(ออสเตรเลียเป็นส่วนหนึ่งของเอเซีย) แม้ว่าประเทศห้อมล้อมจะเป็นเอเซียก็ตาม จากการฟังวิทยากรก็พอสรุปได้ว่า ถ้าคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของเอเซียแล้ว กลั่วว่าส่วนไม่ดีของเอเซียจะชักนำให้ออสเตรเลียตกต่ำไปด้วย จึงยึดถือเอายุโรปเป็นต้นแบบดีกว่า และไม่นับรวมอยู่ในเอเซีย


หลังจากกลุ่มผู้ฟังมานั่งรับประทานของว่างก็มีการพูดคุยกันต่อ ก็อดไม่ได้ที่จะวิจารณ์ออสเตรเลียบ้าง ว่าจริงแล้วออสเตรเลียนั้นคนที่มาอยู่ออสเตรเลียช่วงก่อนเป็นประเทศก็คือนักโทษที่อังกฤษส่งมาอยู่ และต่อมากลุ่มชนเหล่านี้ก็กลายมาเป็นพลเมืองออสเตรเลีย ก็พยายามยกระดับตัวเองเพราะมีปมด้อยเรื่องนี้อยู่ด้วยจึงไม่มองให้เป็นส่วนของเอเซีย กลับไปยกเอายุโรปประเทศดั้งเดิมเสียมากกว่าแม้ว่าจะเคยปฏิเสธไม่ให้อยู่ร่วมแผ่นดินมาก่อน

อีกเรื่องหนึ่งที่วิทยากรชี้ประเด็นให้เห็นก็คือว่า เรารู้เรื่องเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์น้อยมาก และยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ว่าเป็นประเทศที่รู้เรื่องประเทศเพื่อนบ้านดีกว่าประเทศอื่นๆ ในอุษาคเนย์ด้วยกัน จะว่าไปอาจเป็นความจำเป็นของสิงคโปร์ที่เป็นประเทศเล็กไม่ค่อยมีทรัพยากรธรรมชาติ แต่เน้นด้านการค้ากับต่างประเทศเพื่อความอยู่รอดทำให้ต้องศึกษาเพื่อนบ้าน ในเรื่องนี้จำได้ว่าครั้งหนึ่งหลายสิบปีมาแล้วมีคนไปสัมภาษณ์ชาวอเมริกันว่ารู้จักประเทศไทยหรือไม่ ชี้ในแผนที่ก็ไม่ถูก และมักเรียกประเทศไทยผิดว่าใต้หวัน ตอนนั้นก็คิดได้ว่าประเทศไทยไม่มีความหมายอะไรต่อเขามากนัก มองว่าไทยยังด้อยพัฒนาที่เป็นประเทศหนึ่งที่รับความช่วยเหลือจากอเมริกัน และถ้ามองกลับมาที่เราตอนนี้ เราก็เริ่มให้ความสนใจประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ตั้งสถาบันเพื่อการศึกษา หรือหน่วยงานที่ให้ความสนใจประเทศต่างๆ อย่างน้อยเราก็มีศูนย์ศึกษาอินโดนีเซีย อเมริกันคอนเนอร์ การคิดตั้งสถาบันศึกษาอุษาคเนย์รูปแบบใดก็แล้วแต่เป็นเรื่องดี ถ้าทำให้จริงจังก็จะเป็นจุดเด่นได้ถ้าลงลึกด้านใดด้านหนึ่งให้จริงจัง

การเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านทำให้เราเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมแต่ละที่ที่แตกต่างกัน สร้างความเข้าใจระหว่างกันได้ลดโอกาสที่จะขัดแย้งกัน และนำไปสู่ความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ ลองจับประเด็นมาสักเรื่องไม่ว่าเรื่องอะไรก็จะเห็นความแตกต่าง โดยเฉพาะสังคมวัฒนธรรม เช่นในเรื่องเพศ ศาสนาที่แตกต่างก็มีความเข้าใจเรื่องเพศที่แตกต่าง กฏระเบียบสังคมก็แตกต่างกันไป การกระทำในประเทศหนึ่งได้แต่ไปกระทำในอีกประเทศหนึ่งไม่ได้เป็นต้น

จากการที่โลกแคบเข้าการติดต่อถึงกันได้สะดวก เรียนรู้กันได้ง่ายมากกว่าเดิม เป็นช่องทางที่เราจะศึกษาชาวอุษาคเนย์ด้วยกัน คนลาวอาจไม่ชอบอาหารจานโปรดที่มีเป็ดเพราะคิดว่าเป็ดเป็นสัตว์ปากตลาดส่งเสียงร้องเทียบกับคนเหมือนไม่มีมารยาทอะไรทำนองนั้น แต่ลาบเป็ดอุดรเป็นที่ลือชื่อได้รับความนิยมสำหรับคนไทย และยังมีอะไรที่น่าสนใจอีกหลายอย่างและมีหลายอย่างเช่นกันที่เรามีภาพลบต่อประเทศเพื่อนบ้านที่ดูเหมือนว่าจะลบล้างได้ยาก จากการที่ประเทศสยามเคยยิ่งใหญ่มาก่อน ขยายอานาเขตไปกว้างไกล ว่าสยามประเทศเคยทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านกวาดต้อนผู้คนมาก็มากในสมัยโบราณ และเกาะเล็กๆ เช่นลังกาวี มาเลเซีย ก็มีประวัติศาสตร์ว่า ศุลต่านและทหารออกไปรบกับทัพสยามโดยนำเสนอในรูปของวิดีโอให้นักท่องเที่ยวดู ซึ่งเป็นแง่มุมของประวัติศาสตร์ที่คงไม่มีอีกแล้ว แต่ก็มีผลทางด้านจิตใจที่ทำให้ห่างเหินจากเพื่อนบ้านที่อาจไม่ค่อยไว้ใจเราได้เช่นกัน แล้วเราจะนำเสนอเพื่อให้เกิดภาพที่ดีระหว่างกันอย่างไรก็น่าศึกษาอยู่เหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น