หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พฤติกรรมการคิด

มีอยู่บ่อยที่เราไม่ตัดสินใจทันทีที่จะยอมรับหรือปฏิเสธเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เมื่อมีคนมาชักชวนหรือให้ทำอะไรสักอย่าง แต่จะตอบว่าขอคิดดูก่อน ดังนั้นความหมายของการคิดจึงมีหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะนิยามการคิดเพื่อพยายามที่จะแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง แต่ยังรวมไปถึงการหาความสัมพันธ์หว่างมโนทัศน์ที่เกี่ยวข้องด้วย แล้วประมวลผลหาทางเลือกต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจยอมรับหรือไม่ยอมรับดังกล่าวแล้ว


ตามความหมายการคิดดังกล่าวแล้วนั้นได้นำไปใช้เป็นหลักในการสร้างคอมพิวเตอร์ ให้คอมพิวเตอร์มีหน่วยความจำที่บันทึกสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ อันได้แก่มโนทัศน์ สารสนเทศและแม้แต่ความรู้ และอีกประการที่สำคัญที่คอมพิวเตอร์มีก็คือหน่วยคำนวณและตรรกะ ที่สามารถเปรียบเทียบหาความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ สารสนเทศที่เก็บไว้ในหน่วยความจำ และตัดสินเลือกกระทำตามคำสั่งใดคำสั่งหนึ่ง ดังกล่าวมานี้ก็ถือว่าคอมพิวเตอร์ก็คิดได้ระดับหนึ่ง

และจากความหมายการคิดที่ใช้นี้ทำให้อะไรๆ ก็ถือว่าเป็นการคิดได้ทั้งสิ้น ที่มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาหรือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะต้องมีการตัดสินใจเสมอ และการจะตัดสินใจได้ต้องมีข้อมูล ต้องมีมโนทัศน์ที่หลากหลายแตกต่างกัน ดังเช่นการคิดแบบมีหลักการ คงจะมีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่คิดเลยกรอบหรือนอกขอบเขตของเป้าหมาย การคิดแบบรอบคอบละเอียด อาจมีการทำรายการหรือเซ็คลิสท์ ว่าจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ เมื่อทำเรื่องนี้แล้วจะทำเรื่องอะไรต่อ

การคิดนอกกรอบ หรือคิดที่แตกต่างออกไปจากการคิดทั่วไป จากวงล้อมของกรอบ การพบสิ่งใหม่ๆ สร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ งานใหม่ๆ และสินค้าใหม่ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตามคนเราอาจคิดได้ดีในเรื่องหนึ่งแต่อาจล้มเหลวในอีกเรื่องหนึ่ง บางคนคิดแบบจับจดทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน หรือที่เรียกว่าคิดแบบแผ่นเสียงตกร่อง หาทางออกจากร่องเดิมไม่ได้ถือว่าคิดไม่เป็น และถือว่าเป็นการหลงความคิดของตัวเอง

ในกรณีที่ไม่ค่อยไว้ใจกัน ยังมีความลับต่อกันเปิดเผยต่อกันน้อย มักจะคิดระแวงต่อกันนั้น ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจ หรือไม่กล้าทำอะไรเพราะกลัวพลาดจนเกินไป หรือไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรเลย เข้าทำนองการเสี่ยงมากที่สุดก็คือการไม่เสี่ยงอะไรเลย ไม่รู้จักพลิกแพลง หาทางเลือก ทางหนีทีไล่ และหาเหตุผลมาสนับสนุนไม่ค่อยจะได้ ก็คิดไม่เป็นเช่นเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น