หน้าเว็บ

วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ภาษาดิ้นได้

มีอยู่หลายครั้งที่ผม นั่งฟังการพูดคุญสนทนา ภาษาที่ใช้พูดคุยกันบางครั้งมีความหมายเฉพาะกลุ่ม บางครั้งเปลี่ยนความหมายเดิมได้อย่างคล้องจองกับคำเดิม หรือไม่ก็มีการเล่นคำเชิงตรรกะหาเหตุผลแบบศรีทนนชัยก็มี


ในกรณีที่พูดว่า "สาวน้อย" ปกติจะใช้เมื่อเอ่ยถึงในความหมาย เด็กหญิงหรือ หญิงวัยรุ่น หรือหญิงสาวที่น่ารัก แต่ในขณะเดียวกันก็หมายถึงคนที่ความสาวเริ่มร่วงโรยไปจนถึงแก่ก็ได้คือมีความสาวน้อยลง ถ้าวิเคราะห์ทางภาษาความหมายแรกนั้นเป็นคำนามไม่แยกคำ ส่วนความหมายหลังนั้นให้"น้อย"เป็นคำคุณศัพท์หรือคำวิเศษที่ขยายคำนามหรือคำคุณศัพท์ "สาว"

อีกกรณีหนึ่งเป็นเหมือนมุกในการพูด เช่นมีคนแนะนำตัวในงานชุมนุมศิษย์เก่าครั้งหนึ่งว่า เขาทำงานเป็นหัวหน้าภาควิชาได้ตำแหน่งทางวิชาการเป็น รศ.มานาน 5 ปีแล้ว และเป็นรอศอจริงๆ เพราะรอจะให้ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์มา 5 ปีแล้วไม่รู้ว่าจะได้หรือเปล่า จะเห็นว่าเปลี่ยนความหมายตัวย่อ ร ที่ย่อมาจาก"รอง"ไปเป็น "รอ" ซึ่งคล้องจองกันได้เป็นที่เข้าใจทันที

ที่เกี่ยวกับวงการซื้อขายสินค้าเคยมีการโฆษณากันพักหนึ่งว่า เช่นเสื้อผ้า สายสร้อยไม่ลอกไม่ตก ไม่ลอกไม่ดำ แต่เมื่อซื้อมาใช้แล้วปรากฏว่าทั้งลอกทั้งตก หรือทั้งลอกทั้งดำ คนขายก็อาจอ้างได้ว่า ก็ไม่ได้บอกไว้นี่ว่า ถ้าลอกแล้วสีไม่ตก หรือเป็นสีดำ จะว่าเขาลอกลวงไม่ได้ เช่นเดียวกับการโฆษณาสินค้าอื่นๆ เช่นไม่ฉีกไม่ขาด ไม่ยับไม่หด ไม่ลอกไม่หด อะไรทำนองนี้ ก็ต้องระวังให้ดีเหมือนกันเมื่อเจอศรีทนนชัยกลับชาติมาเกิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น