หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ที่มาของคำพังเพยที่มีคำว่าวัดและไก่

เมื่อวานนี้ผมได้เขียนที่มาของนครนายกจากคำบอกเล่าในวงสนทนา วันนี้ก็เช่นก็ได้ที่มาของคำพังเพยที่มีคำว่าไก่และวัด คำแรกคือ "ตัดหางปล่อยวัด" ตอนแรกผมก็คิดว่าน่าจะเป็นสุนัขหรือที่เรียกกันว่าหมาวัด แต่ดูไปดูมาไม่ค่อยมีหมาในวัดถูกตัดหางเลยจึงไม่น่าจะเป็นสุนัข ขณะที่กำลังคุยกันนั้น อาจารย์ท่านหนึ่งท่านมีประสบการณ์เรื่องนี้ก็เล่าให้ฟังว่า น่าจะเป็นไก่ ที่มีคนนำไปทำบุญที่วัด เพื่อให้แตกต่างจากไก่อื่นจึงได้ทำการตัดหางไก่ ทำให้หลีกเลี่ยงผู้ขโมยไก่ในลักษณะนี้ได้บ้าง เพราะกลัวบาปอะไรทำนองนั้น


จากที่มาดังกล่าวนั้นยังเชื่อมโยงกับคำพังเพยอีกคำคือ "สมภารอย่ากินไก่วัด" ถ้าเด็กวัดกินไก่วัดน่าจะบาปน้อยกว่าสมภารกินไก่วัด อันเป็นไก่ที่เขามาทำบุญซึ่งต้องการช่วยชีวิตสัตว์หรืออย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าสมภารทำเสียเองแล้วหรือทำบาปเสียเองจะไม่เป็นแบบอย่าง หรือจะสั่งสอนใครก็อาจไม่ได้รับความเชื่อถือ แต่ว่าคำพังเพยนี้กลับมีความหมายไปในทางชู้สาวระหว่างครูอาจารย์กับศิษย์ เจ้านายกับลูกน้อง อะไรทำนองนี้ โดยที่ครูหรือเจ้านายจะมีอำนาจเหนือศิษย์ ลูกน้อง ที่อาจมีส่วนเป็นอย่างมากที่ทำให้ตกร่องปล่องชิ้นกันได้ง่าย ทำให้โยงได้กับคำพังเพยอีกคำหนึ่งคือ "ลูกไก่ในกำมือ" ซึ่งศิษย์และลูกน้องอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบต่ออาจารย์หรือเจ้านาย ผู้ซึ่งอาจใช้พระคุณหรือพระเดชหรือความเป็นที่เคารพเป็นมูลเหตุจูงใจ

สมัยนี้บางที่ลูกศิษย์กับอาจารย์ก็มีอายุไล่เลี่ยกัน หรือความรักก็ไม่ได้มีพรมแดน กามเทพแผลงศรได้ทั้งนั้น ไม่ได้เป็นข้อห้ามว่าแต่งงานอยู่กินกันไม่ได้ แต่เป็นอุทาหรณ์ที่ให้ทุกฝ่ายได้คิดวางตัวอย่างเหมาะสมไม่ประพฤตตัวผิดศิลธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น