หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เศรษฐกิจพอเพียงกับความหลากหลาย

จากการไปดูงานเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีการปลูกพืชไร่นาสวนผสม กันเป็นส่วนใหญ่มีการปลูกพืชหลายชนิดในขณะเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่ว่าจะได้มี ผลผลิตที่หลากหลายไว้บริโภคมีครบเกือบทุกอย่างที่ต้องการ โดยหลักการทางโภชนาการก็เป็นข้อดี ประโยชน์อีกทางหนึ่งนั้นก็คือเป็นการลดศัตรูพืชลงได้ มากกว่าการปลูกพืชชนิดหนึ่งชนิดใดเป็นการเฉพาะ


การปลูกผักหลายชนิดในแปลงเดียวกันพบว่าแมลงอันเป็นศัตรูต่อพืชผักนั้น คงไม่ชอบผักบางชนิด ก็เลยไม่กล้าที่จะมากินผักที่ตัวเองชอบที่อยู่ใกล้กัน ชาวบ้านให้เหตุผลว่าแมลงคงจะงงและสับสน ทำอะไรไม่ถูกก็ได้ ก็ถือว่าเป็นวิธีการที่ดีอย่างหนึ่ง บางท้องที่ก็พบว่า ต้องปลูก สลับกัน แปลงนี้ปลูกพืชชนิดหนึ่ง อีกแปลงก็ปลูกอีกชนิดหนึ่ง เพราะแต่ละแปลงแมลงต่างชนิดกันที่ชอบมากัดกิน อาจจะไม่กินเส้นกัน ไม่อยากพบหน้าค่าตากัน จึงทำให้มาทำลายพืชผลน้อยก็เป็นได้

ในมหาวิทยาลัยของเราคงจะเคยเห็นนกกระยางขาว และนกที่เป็นตระกูลใกล้เคียงกันสีน้ำตาลขาวมาจับปลาที่เลี้ยงไว้ในสระไปกินตอนตัวเล็กๆ แต่เมื่อตัวโตมากขึ้นนกพวกนี้ก็หายไป กลับพบว่ามีนกเอี้ยงจำนวนมากมาวนเวียนอยู่แถวสระเลี้ยงปลา จะว่ามาจับปลาก็ไม่ใช่เพราะคงจับปลาไม่ได้เหมือนนกกระยาง หรือนกกะปูด แต่ได้รับคำตอบจากผู้เลี้ยงปลาว่ามันมาคอยแย่งอาหารปลาที่ลอยอย่ในน้ำข้าง สระ หรือไม่ก็ที่ตกหล่นอยู่ในบริเวณนั้น เพราะอาหารปลามักจะลอยมาติดขอบสระและปลาที่เลี้ยงไว้มักไม่ค่อยมาตามกิน เลยเป็นอาหารของนกไป

เคยไปเยี่ยมที่ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงที่สิชลในค่ายทหารที่ส่งเสริมเป็น ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง มีพื้นที่ที่ขุดสระไว้สำหรับการเลี้ยงปลา ซึ่งก็ทราบว่าไม่ค่อยได้ผลเพราะนกมักจะมาหารับประทานไปเสียเกือบหมด ต้องมีที่ปิดกั้นกันนกกันอีก สำหรับท้องที่ที่ได้ผลนั้น การขุดสระจะอยู่ใกล้ที่พักอาศัยมากคนเดินวนไปมาบ่อยจึงได้ผล บางที่เลี้ยงไว้ใต้ชายคาบ้านด้วยซ้ำไป ก็ได้ผลดีนกไม่มารบกวน นกพวกนี้แม้ไม่มีปลาก็จะพบอีกที่ ที่ไปช่วยเลี้ยงวัว บางครั้งก็จะเห็นวัวตัวหนึ่ง มีนกกระยางยืนอยู่ใกล้ๆ กันเสมอ คงจะพึ่งพากันกับวัว ที่มีแมลงบางชนิดมาไต่ตอมวัว ที่นกกระยางคอยจับกิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น