หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ควันหลงการใช้ฟูราดานสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช

ไม่กี่วันมานี้ได้ยินได้ฟังที่เพื่อนร่วมงานเป็นไข้ไม่สบาย เนื่องจากสาเหตุต่างๆ บ้างก็เสียชีวิต บ้างก็กำลังพักรักษาตัว บ้างครั้งก็พยายามหาสาเหตุกันว่าอะไรที่ทำให้พวกเราอ่อนแอ ซึ่งต่างก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่ก็ได้รับรู้รับทราบเกี่ยวกับสิ่งที่อาจมากระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่นการใช้สารฟูราดานในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ที่เกษตรกรเรียกกันว่า ฟูราดาน 3%จี เป็นยาเม็ดสีม่วง ฤทธิ์ยาดูดซึมทางราก มักจะใส่กันที่ก้นหลุมในการปลูกพืชผัก นาข้าว พืชไร่ ไม้ดอกไม้ประดับ ที่กล่าวถึงกันมักมองกันถึงประสิทธิภาพว่าดี ให้ผลผลิตดีสวยงาม ศัตรูพืชไม่มากล้ำกลาย แต่ก็อดคิดไม่ได้กันว่า แม้แต่แมลงยังไม่กล้ามายุ่งเกี่ยว ปูนาที่เคยมีในนาข้าวก็กลับไม่มีถ้าใช้สารตัวนี้ และที่น่าจะเกินจริงตรงที่กิ้งกือเดินผ่านแล้วตายลำตัวขาดเป็นสองท่อน และชาวนาที่ปลูกข้าวก็ไม่กล้าเก็บไว้รับประทานเองแต่ส่งขายอย่างเดียว



เราผู้บริโภคได้ยินได้ฟังก็ตกใจเป็นธรรมดาว่า อาหาร พืชผักทั้งหลายที่เรารับประทานน่าจะมีสารเคมีตกค้าง และมักจะเป็นสารก่อมะเร็งเสีย ก็ให้คิดว่าทำไมจึงอนุญาตให้มีการใช้ในตอนแรก ก็คงจะตอบได้ว่าผลการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ของสารกำจัดศัตรูพืชนี้ได้ทำการทดสอบยืนยันว่าคงจะให้ประโยชน์มากกว่าที่เป็นอันตราย ก็นำมาใช้ไปก่อนโดยที่ยังไม่ได้ศึกษาผลที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว เช่นเดียวกับที่เราเคยประสบมาแล้วที่เราเคยใช้สาร DDT ที่ปนเปื้อนเข้าไปในห่วงโซ่อาหารอย่างฝังรากลึกและก่อให้เกิดพิษภัยแก่มนุษย์มากมายจนต้องประกาศห้ามการใช้
สารฟูราดานแม้ว่าจะมีข้อบ่งชี้ว่าจะมีพิษตกค้างอยู่ในดินได้นาน 60 วัน แต่เราผู้บริโภคอีกนั่นแหละจะเชื่อถือได้ร้อยเปอร์เซนต์อย่างไรว่าไม่หลงเหลือพิษตกค้างอยู่ หากคนที่นำไปใช้ไม่มีความรู้หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รวมคนที่มีเจตนาเอาแต่ได้ ทางออกการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็ต้องทำต่อไป เพื่อให้ได้สารที่มีพิษมีภัยต่อชีวิตมนุษย์น้อยที่สุดและไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพราะแนวปรัชญาวิทยาศาสตร์ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าไม่ว่าความรู้ใดก็ยังมีข้อบกพร่องมีส่วนไม่สมบูรณ์อยู่ ฉะนั้นต้องยอมรับความการศึกษาใหม่ๆ สารใหม่ที่ดีกว่าเดิม หรือว่าใช้ผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ที่มั่นใจกว่าถึงความปลอดภัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น