หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อย่างไรเป็นจิตอาสา

ระยะหลังพบว่าสังคมในประเทศเราขาดคนประเภทที่เห็นประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ หาคนที่เสียสละเพื่อผู้อื่นได้ยาก ส่วนใหญ่มักจะพบว่าคนที่มีฐานะดีเสวยสุขอยู่ได้ท่ามกลางผู้ที่ทนทุกข์ ทุกข์ยากได้ และถ้าสังคมใดที่ปล่อยให้มีคนยากจนอยู่มากเท่าใด ก็เหมือนกับว่าเรานิ่งดูดาย ไม่มีจิตอาสาไม่มีจิตสาธารณะ ไม่ได้นึกถึงความสัมพันธ์ว่าทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม


ความจริงจิตอาสานั้นดูจะมีความขลังกว่า การใช้คำอาสาสมัคร เพราะดูเหมือนว่าจิตอาสาเป็นการอาสาสมัครด้วยใจ ไม่ว่าจะใช้คำใดก็มองได้ทั้งแง่ดีและแง่ร้าย ก็คือที่ว่าด้วยใจ อาจด้วยใจที่แอบแฝงหวังผลประโยชน์หรือด้วยการเสียสละบริสุทธิ์ใจหรือด้วยใจจริงก็ได้ การใช้คำว่า อาสาสมัคร บางครั้งก็มองไปทางบวกไว้ก่อน ถือว่ากลางๆ ดี เรากล่าวได้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นยอดนักอาสาสมัครตัวยง โดยไม่หวังผลสิ่งตอบแทนใดๆ

เพื่อพิจารณาความหมายของจิตอาสาเป็นอย่างไรในรายละเอียด ประการแรกก็คือ ไม่ดูดาย เมื่อเห็นว่าจะเกิดพิษภัย เกิดโทษ ความเสียหาย ถ้าไม่ดูดายก็ต้องคิดหาวิธีบรรเทาพิษภัย โทษ และความเสียหายให้ได้ตามอัตภาพอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันหรือไม่ให้เกิดสิ่งดังกล่าว โดยการลงมือกระทำ หรือพูดชี้แนะ แจ้งเบาะแส แจ้งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หรือสิ่งไม่ดีจะเกิดขึ้นถ้าไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ จากนี้จะเห็นว่าจิตอาสาไม่ต่างกับการมีน้ำใจมีเอื้ออาทร และนับเป็นความกล้าหาญทางจริยธรรม

ประการต่อมาคือต้องคิดถึงผู้อื่นเห็นอกเห็นใจผู้อื่นว่าจะได้รับผลกระทบอะไร ในแง่นี้ก็คือต้องมีน้ำใจ ทำอะไรด้วยความหวังดี แต่ไม่หวังดีเกินไป ข้อนี้คงมาจากหลักศาสนาต่างๆ ที่ว่าให้รักเพื่อนบ้านมากกว่าตัวเอง หรือให้มองส่วนรวมมากกว่ามองเรื่องส่วนตัวคือ พยายามรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมไว้นั่นเอง นอกจากนี้การมีจิตอาสาคือคิดให้ไกลมองให้เห็นความเชื่อมโยง หรือมองให้รอบด้านว่าในเรื่องใดๆ นั้นจะมีผลกระทบโดยตรง โดยอ้อมอย่างไร แก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่าปลายเหตุ ซึ่งจะทำให้มีความยั่งยืนมากกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น