หน้าเว็บ

วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ธรรมชาติของการดับทุกข์อยู่ที่ใจ

ใน เมื่อคนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ คนจึงเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่ประกอบด้วยส่วนที่เป็นรูปและส่วนที่เป็นจิตวิญญาณหรือใจ ธรรมชาติของรูปคือร่างกายแท้ๆ นั้นไม่มีความสุข ทุกข์ใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะต่างก็ประกอบที่เรียกว่าธาตุ 4 คือดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มาผสมรวมกันเกิดขึ้นเป็นร่างกายชั่วคราวและมีการเปลี่ยนสภาพไปตาม ธรรมชาติของชีวิต




แต่การจะเกิดทุกข์สุข ขึ้นได้นั้นอยู่ที่ใจ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกสุขทุกข์ทางร่างกาย ใจจึงเป็นธาตุรู้หรือตัวรู้มาอาศัยอยู่พร้อมเพรียงกับร่างกาย กล่าวได้ว่าใจที่ไม่มีกาย ก็จะเป็นได้แค่ความนึกคิด การกระทำภายนอกไม่มีเหมือนกับคนเป็นอัมพาต การที่ไม่มีใจก็ทำอะไรไม่ได้เช่นกัน คนตายหรือซากศพ ไม่มีใจที่จะไปโกรธ เกลียด แค้นเคือง ดีใจ เสียใจ กล่าวได้ว่าสุข ทุกข์ และความพ้นทุกข์อยู่ที่ใจเพียงตัวเดียว มีใจเป็นใหญ่ เป็นประธาน เกิดผลอะไรออกมาก็เพราะใจ การจะดับทุกข์ที่แท้จริง ต้องทำที่ใจภายในของตน เพราะอะไรก็เกิดจากใจตน จึงต้องดับที่ใจตน



การดับทุกข์โดยทางสายเอกที่เรียกว่าสติปัฎฐาน 4 คือให้คอยฟังสังเกตดูกาย และทุกข์ของกาย และทุกข์ของใจตนเอง ว่าจริงๆ มันเป็นอย่างไร ในการปฏิบัิติธรรมนั้นจุดหมายที่แท้คือต้องการทำเพื่อเอาชนะใจตนเองเท่านั้น ไม่ต้องการชนะบุคคลอื่นใดทั้ืงสิ้น



การใช้สติเป็นฐานในความหมายของธรรมคืออาการรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมา ในขณะปัจจุบันนี้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ การเกิดการทุกข์ใจก็ให้รู้ว่ามีความทุกข์ ซึ่งเกิดจากการยึดถือเท่านั้น ขณะใดที่จิตไม่ยึดถือ เราก็ปกติสบาย นั่นคือไม่ยินดียินร้ายต่อการมี การได้มา และการจากไปของทุกสิ่ง จิตที่ยึดอดีตก็เป็นทุกข์ จิตที่ยึดอนาคตก็เป็นทุกข์ แต่จิตที่ดำรงอยู่รู้เท่าทันอยู่กับปัจจุบัน ที่เกิดแล้วไม่ยึดเท่านั้นที่จะไม่ทุกข์

ความพยายามรักษาใจให้อยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นานๆ ไปจิตจะสงบลง จนเกิดความตั้งมั่น กลายเป็นสมาธิโดยไม่รู้ตัวตามสภาพที่นิ่งของจิต การเจริญสติให้รู้อยู่กับปัจจุบันให้ได้โดยตลอด นั้นผลจะเกิดเป็นสมาธิขึ้นมาเองในที่สุด เพราะสมาธิคือผลของการเจริญสติ

ถอดความจากหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ คุณเฉลย ณ สงขลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น