หน้าเว็บ

วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาวิทยาศาสตร์ของเราผิดพลาดที่ตรงไหน

มากกว่าหนึ่งศตวรรษแล้วที่ประเทศไทยเอาแนวความคิดแบบตะวันตกมาลงหลักปักฐานในระบบการศึกษาของเราตราบจนทุกวันนี้ เมื่อกล่าวถึงการศึกษาวิทยาศาสตร์จะหมายรวมไปถึงการจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ได้มาจากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดจากการคิดค้นของนักวิทยาศาสตร์ชาติตะวันตกแทบทั้งสิ้น ซึ่งขณะที่ได้หล่อหลอมก่อร่างสร้างตัวตามแนวคิดทางตะวันตกนั้นก็ได้ละเลยองค์ความรู้ของตนเอง เหมือนกับว่าจะดูแคลนภูมิปัญญาดั้งเดิมของเรา ทั้งที่ได้รับใช้ได้ผลมาเป็นเวลายาวนานแล้ว


นอกจากเราจะรับความรู้วิทยาศาสตร์ตะวันตกมายาวนานแล้วเราก็สั่งสมการรับค่านิยมมาด้วย ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้เบี่ยงเบนศักยภาพที่ดี การจัดการศึกษาที่สนองต่อค่านิยมที่แยกส่วน แบ่งแยกเป็นส่วนย่อย แนวคิดพิชิตโลกหรือธรรมชาติ และสนใจเฉพาะส่วนที่วัดได้หาปริมาณได้ ทำให้ขาดหายส่วนที่เป็นนามธรรมและความรู้ที่เป็นองค์รวม ทำให้มองไม่เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโลกและชีวิตที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ

อย่างไม่ต้องสงสัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ตะวันตกมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ศักยภาพของนักวิทยาศาสตร์ศึกษา และนักวิทยาศาสตร์โดยทั่วไปนั้นจึงขึ้นอยู่กับการรู้เท่าทันและปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบท และยิ่งนานวันเราจะพบว่าภูมิปัญญาดังเดิมของเรามีอะไรดีๆ อันเป็นส่วนนามธรรมที่ขาดหายไป ที่แม้แต่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ก็ต้องไปเรียนรู้ ดังเช่นที่ปรากฏในแพทย์แผนไทย สมุนไพร การศึกษาวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทยควรจะได้รับการส่งเสริม ไม่เพียงแต่ให้นักศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรทางวัตถุของโลกเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีองค์ประกอบทางนามธรรมควบคู่กันไปด้วยจึงจะเป็นการศึกษาที่มีอิสระภาพอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น