หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ย้อนรอยอดีตเมืองนคร

วันนี้ได้สนทนากับผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับประวัติเมืองนครอย่างแตกฉานคนหนึ่ง ซึ่งท่านแสดงความคิดเห็นหลายอย่างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช ที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เขียนได้เสนอไว้ในย้อนรอยอดีตจตุคามรามเทพ ว่าเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ศาสนาพุทธไปยังอินโดนีเซียดังหลักฐาน บรมพุทโธ (บอริบุโดในภาษาอินโดนีเซีย) และเกี่ยวพันธ์กับกษัตริย์ผู้สร้างนครวัดนครธม (นครธมเป็นศิลปะแบบบายน) ได้รับอิทธิพลการสร้างปราสาทมาจากบรมพุทโธ เพราะเจ้าผู้ครองนครเขมรและอินโดนีเซียเป็นญาติกัน




จากหลักศิลาจารึกที่วัดเสมาเมืองที่บ่งบอกถึงการตั้งอาณาจักรศรีวิชัยนั้น ยังมีปัญหาอยู่ว่าเป็นหลักศิลาที่อยู่ที่นครมาดั้งเดิมหรือไม่ อาจเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่นทั้งนี้เพราะหลักฐานแวดล้อมที่พบนั้นมีน้อย ต่างกับหลักศิลาจารึกที่เรียกว่ามเหยงค์ไม่ใช่ศิลาจารึกที่อยู่ที่วัดมเหยงค์ตำบลท่าวัง แต่อยู่ที่ท่าศาลา ที่แหล่งโบราณคดีโมคลาน ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในด้านศิลปกรรม สอดคล้องกันที่พบที่วัดนางพระยา วัดพระเวียง วัดท้าวโคต วัดสวนหลวง และอื่นๆ ในแง่ศิลปะ ที่น่าจะเป็นชุึมชนชาวขอมโบราณ และที่วัดนางพระยาถ้าสืบสาวราวเรื่องไปแล้วเกี่ยวข้องกับกษัตริย์เขมรสมัยพระเจ้าชัยวรมัน และมีเรื่องราวเกี่ยวกับจตุคามรามเทพมาก่อนแล้ว

ส่วนในเรื่องที่เกี่ยวกับศรีลังกานั้นมีหลักฐานจากพระสิหิงค์ พระบรมธาตุเจดีทรงลังกาแต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในแง่ของศิลปะแถบไม่มี จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่หลักฐานต่างๆ ที่พบมาจากศรีลังกา แต่ถ้าดูหลักฐานทางด้านศิลปะ ที่พบได้หลายจุดในเมืองนครศรีธรรมราชนั้น มีส่วนของศิลปะแบบบายนของเขมรเป็นหลักฐานที่ชัดเจนกว่า อย่างไรก็ตามการสร้างโบสถ์วิหารนั้นสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาไม่ได้สร้างตามแบบขอมหรือเขมร แม้ว่าในสมัยพระเจ้าปราสาททองจะได้เคยไปตีอาณาจักรเขมรสำเร็จและได้นำอารยธรรมเขมรมาสร้างปราสาทไว้บ้างก็ตาม


จะเห็นว่ายิ่งติดตามประวัติศาสตร์เมืองนครจะพบส่วนที่เป็นวิทยาศาสตร์คือมีหลักฐานแวดล้อมที่น่าเชื่อถือนั้นมีไม่มากจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เราไม่ได้เรียนรู้อาณาจักรศรีวิชัยว่ามาเกี่ยวพันธ์กับเมืองนครศรีธรรมราชตรงไหน อาณาจักรขอมแผ่อิทธิพลลงมา หรือว่าเป็นพวกขอมที่ถูกกวาดต้อนมาก็ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ แต่การย้อนรอยศึกษาที่ไปที่มาแล้วเราจะได้อะไรดีๆ ทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงทิ้งไว้ให้พวกเราอย่างคาดไม่ถึงเช่นเดียวกับองค์จตุคามรามเทพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น