หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

ความสอดคล้อง รูปแบบการเรียนรู้และการจัดการความรู้

ศาสตร์แห่งการจัดการความรู้เพิ่งจะให้ความสำคัญมาไม่กี่ปีมานี้ ทั้งนี้เนื่องจากความรู้ที่สร้างขึ้นแต่ละปีเพิ่มขึ้นราวสองเท่าของปีที่ผ่านมา และเป็นไปแบบก้าวกระโดดที่เราจำต้องปรับตัว ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพราะการนำความรู้ใหม่ๆ มาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพชีวต ทั้งในแง่ของปัจเจกบุคคลและในทางสังคม ซึ่งปกติแล้วเราก็มีการจัดการความรู้กันอยู่แล้วในทางการศึกษา และในวงการต่างๆ แต่ไม่ได้แยกแยะให้เห็นในรายละเอียด หรือไม่ได้มีมาตรฐานหรือแนววิธีการที่ชัดเจนเท่านั้น ยังขึ้นอยู่กับกลุ่มและตัวบุคคลเป็นหลัก จากแนวการจัดการความรู้ที่แบ่งความรู้เป็นสองกลุ่มคือ ความรู้ที่ชัดแจ้ง กับความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน ซึ่งความจริงแล้วความรู้ทั้งสองอย่างนี้นั้นมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างสูง บางครั้งแทบจะแยกกันไม่ออก เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสามารถที่จะแปลงความรู้ที่มีอยู่ในตัวคนให้อยู่ในรูปที่สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น แล้วกลายเป็นความรู้ที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามยังเชื่อกันว่าความรู้ที่มีฝังลึกอยู่ในตัวคนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นความรู้จากการปฏิบัติและเป็นความรู้ที่ใช้ได้จริง ซึ่งบางอย่างไม่สามารถจะถ่ายทอดออกมาเป็นสื่อได้ ต้องมีการประมวลตามสถานะการณ์ ตามสิ่งแวดล้อม


โดยความรู้ที่ชัดเจนเป็นความรู้ทางวิชาการที่มีการศึกษาเรียนรู้ มีการบันทึกไว้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถที่จะเลือกคัดสรร นำไปปรับใช้ได้ ซึ่งความรู้เหล่านี้ตามทฤษฏีการเรียนรู้แบบการสร้างความรู้นั้น เราทุกคนสร้างความรู้ขึ้นมาจากไม่รู้มาเป็นรู้โดยอาศัยความร่วมมือจากความรู้ที่มีอยู่เดิม ถ้าได้จากการวิจัยก็จะเป็นความรู้ใหม่ที่ไม่เคยทราบกันมาก่อน หรือเคยทราบแต่ยังไม่เป็นที่เข้าใจที่ชัดเจน แนวคิดในเรื่องของการสร้างความรู้ หรือคอนสตรักติวิสนั้นเริ่มได้รับความสนใจจากแนวคิดทฤษฏีพัฒนาการและการเรียนรู้ของเปียอาเจต์ โดยมองความเป็นจริงก็คือปรากฏการณ์ที่แต่ละคนมีประสบการณ์ผ่านทางการสร้างความรู้ โดยมโนทัศน์ที่เกี่ยวกับวัตถุทั้งหลายอยู่ในโครงสร้างทางการคิด ซึ่งจะต้องเกิดความสมดุลจากการดูดซึม (assimilate) เป็นกระบวนการที่ตื่นตัวกระตือรือร้นในการสร้างความหมายขึ้นจากประสบการณ์ที่เข้ากันได้กับความรู้ที่มีอยู่เดิม ส่วนการปรับเปลี่ยนความรู้ (accommodation) เป็นการเปลี่ยนความคิดของตัวเองที่พยายามเข้าสู่ความสมดุล จากที่ไม่ลงรอย หรือขัดแย้งกับที่เป็นอยู่เดิม นอกจากนี้แนวคิดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน โดยกระบวนการสนทนาพูดคุย การแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนความคิดกัน การโต้แย้งกันก็ก็ให้เกิดการเรียนรู้ตามแนวคิดของไวก็อตสกี้

ในวงรอบการจัดการความรู้ที่ชัดแจ้งนั้น แน่นอนว่าจะต้องคัดเลือกตรวจสอบ นำไปใช้ และ ยกระดับความรู้ขึ้น ส่วนความรู้ที่ฝังลึกในตัวคน ก็ต้องมีการแบ่งปัน เรียนรู้ร่วมกัน และยกระดับความรู้ และนำไปใช้ จะเห็นว่าไม่ว่าความรู้ที่ชัดแจ้งและความรู้ในตัวคนก็ต้องนำไปใช้อย่างสอดคล้องกัน มีการยกระดับความรู้ และมีการเปลี่ยนกลับไปมาระหว่างความรู้ที่ชัดแจ้งและความรู้ที่มีอยู่ในตัวคน จะเห็นว่าแนวคิดของความรู้ที่ชัดแจ้งนี้นไปสอดคล้องกับแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ของเปียอาเจต์ และการจัดการความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคนก็จะไปสอดคล้องกับแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ของไวก็อตสกี จึงมั่นใจได้ว่าการจัดการความรู้ที่เราใช้กันเป็นแนวคิดที่มีฐานทฤษฎีที่มีมาก่อนแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น