ปีใหม่นี้ได้ใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ ได้อ่านข้อความเชิงโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นแถบป้ายพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์อย่างดีมีศิลป์ ข้อความนั้นเขียนว่า Go for the Top Ten of the World ซึ่งเป็นการประกาศให้โลกรู้ว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะทำทุกอย่างเพื่อให้สนามบินแห่งนี้ได้รับการจัดอันดับจากหน่วยงานภายนอกว่าเป็นสนามบินที่ดีที่สุดหนึ่งในสิบแห่งของโลก ซึ่งทำให้คิดถึงเรื่อง ที่เคยมีการศึกษากันว่า การทำอะไรก็แล้วแต่ถ้าหากได้มีการกำหนดเป้าหมายไว้ แล้วหาวิธีการเพื่อให้เข้าสู่เป้าหมายที่วางไว้นั้น จะทำให้ประสบผลสำเร็จหรือมีความก้าวหน้ามากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาการดำเนินชีวิตของคน ที่พบว่าคนที่มีการตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้จะประสบผลสำเร็จมากกว่า คนที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายใดๆ ในชีวิตไว้
การที่ได้ตั้งเป้าหมายในในปัจจุบันนั้นเข้าใจว่าอยู่ในรูปของภาพอนาคตหรือวสัยทัศน์ ที่สอดคล้องกับปรัชญาที่ใช้เป็นแนวหรือหลักยึดในการดำเนินชีวิตหรืองาน ซึ่งหลายแห่งพยายามกำหนดขึ้นเพื่อเป็นเป้าหมายหรือหลักชัย และมีรายละเอียดที่จะทำให้เข้าสู่หลักชัย บางแห่งโดยเฉพาะในองค์กรทางธุรกิจอาจจะ กำหนดในลักษณะที่ท้าทาย กำหนดเวลาที่จะให้เข้าสู่เป้าหมายอันนั้น และพยายามทำให้ได้เป้าหมายก่อนเวลาได้จะทำให้ประสบผลสำเร็จสูง อันหมายถึงชนะในเชิงการแข่งขัน การทำได้เช่นนั้นก็ต้องขอยกเอาข้อสังเกตของปรมาจารย์ทางด้านการบริหารของ ดรักเกอร์ ที่บอกว่าองค์กรจะก้าวหน้าพัฒนาต่อไปได้ก็ต้องมีอย่างน้อยสองอย่างคือ การตลาดที่ดีและมีนวัตกรรม
ในหลายองค์กรการตั้งเป้าหมายขึ้นมาก็เพื่อการพัฒนาองค์กรไปในตัว เพราะมีการประเมินเป็นระยะๆ ว่าช่วงไหนไปถึงไหนแล้ว ที่จะต้องทำให้มีการปรับปรุงปรับเปลี่ยนแนววิธีการอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เกิดคุณภาพ ประสิทธิภาพ เมื่อได้รับสัญญาณอะไรบางอย่างในทางที่จะทำให้พลาดเป้าหมายในเชิงคุณภาพหรือในทางที่จะทำให้มาตรฐานเสียไป ก็ต้องระดมความคิด ระดมการปฏิบัติการเพื่อไม่ให้มาตรฐานได้ด้อยลงไปเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการเป็นอันดับต้นๆ ในบางองค์กรได้กำหนดแผนการแก้ปัญหาไว้ล่วงหน้า เป็นกระบวนงานที่เผื่อไว้ว่าถ้าเกิดปัญหานี้จะทำอย่างไรไว้ด้วย และยังมีส่วนที่จะให้เพิ่มเติมที่ต้องปรับตัวไปตามสถานะการณ์ของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ดังนั้นการประเมินองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ทราบสถานะปัจจุบัน ว่าจะได้รับผลสำเร็จหรือล้มเลวอย่างไรในอนาคต ซึ่งการประเมินก็สอดคล้องกับการตั้งเป้าหมายของหน่วยงานเช่นกันที่ว่า ไม่ว่าเรื่องใดที่มีการประเมินจะทำให้เรื่องนั้นหรืองานนั้นมีคุณภาพมากกว่า เคยมีการยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า ห้องน้ำห้องสวมที่มีผู้มาตรวจประเมินความสะอาดจะสะอาดกว่าห้องน้ำที่ไม่มีการตรวจประเมินเป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น