จากแนวคิดของคาปลา ที่ให้รู้ นิเวศวิทยา (eco-literacy) แทนที่จะเป็นการ รู้วิทยาศาสตร์ (Science literacy) อย่างเดียว เพราะการรู้วิทยาศาสตร์ก่อให้เกิดสมรรถนะในทางวิชาการ ความรู้ ความสามรถ แต่ขาดความสัมพันธ์เชื่อมโยง ทำให้โลกของเราเต็มไปด้วยคนที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่พวกพวก ทำให้ละเลยความถูกต้อง จนทำให้โลกเกิดความวุ่นวายไม่รู้จบสิ้น ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน คาปลาได้แสดงทัศนะว่า สังคมโลกของเราจะอยู่รอดปลอดภัยอยู่ได้ก็เมื่อ เราได้เข้าใจหลักการทางนิเวศวิทยา นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมคาปลาจึงได้แนะให้มีการรู้นิเวศวิทยา โดยที่การรู้นิเวศวิทยาตามแนวคิดนี้จะประกอบด้วย หลักการทางนิเวศวิทยา และ แนวคิดเชิงระบบ ซึ่งจะต้องนำหลักการดังกล่าวไปใช้ในการปฏิรูปด้านต่างๆ แม้แต่ในเรื่องของการสมานฉันท์ จะมาดูว่าทำไมการรู้นิเวศวิทยาจะนำมาซึ่งการสมานฉันท์
โดยทั่วไปแล้วหลักการทางนิเวศวิทยานั้นมุ่งชี้ให้เห็นของความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตว่า สิ่งมีชีวิตหนึ่งต้องพึ่งพาอีกสิ่งมีชีวิต ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดที่จะอยู่รอดปลอดภัยโดยไม่พึ่งพาสิ่งมีชีวิตอื่น ระบบชีวิตจึงเป็นเครือข่ายของความสัมพันธ์ ทุกชีวิตมีความสำคัญที่จะให้ชีวิตอื่นดำรงอยู่ การตัดวงจรทำร้ายสิ่งมีชีวิตด้วยกัน เป็นเหมือนการทำลายความสัมพันธ์ ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย เช่นเดียวกับมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่มีใครที่อยู่ได้โดยไม่พึ่งผู้อื่นไม่ว่าจะยากดีมีจน เป็นเศรษฐีร่ำรวยมหาศาลแค่ไหน เมื่อพิจารณา ก็ต้องอาศัยผู้อื่นทั้งนั้นจึงทำให้ร่ำรวย ลองจิตนาการหากว่าไม่มีคนจนเลย มีแต่คนรวยจะอยู่ได้หรือไม่ หรือแม้จะไม่แตกต่างกันมากนักในฐานะ แต่ใช่ว่าทุกคนจะทำอะไรได้ด้วยตนเองทุกเรื่อง เพราะบางเรื่องเราต้องพึ่งพาผู้อื่นอยู่ดี ความร่ำรวยของคนๆ หนึ่งอาจไปทำลายล้างคนอีกกลุ่มหนึ่งโดยไม่รู้ตัวหากสืบสาวราวเรื่องดูก็จะเห็นในเรื่องนี้ การที่เราจะมีความสุขอยู่ได้ขณะที่คนรอบข้างมีความทุกข์นั้น ไม่น่าจะเป็นความสุขที่แท้ การคิดเชิงระบบนั้นเป็นการคิดแบบองค์รวม ที่มีความสัมพันธ์ให้รอบด้าน ทำให้เราได้เห็นถึงความ เป็นอยู่ของผู้คนที่มีความแตกต่าง ทำให้มองเห็นว่าใครที่ได้เปรียบเสียเปรียบ เราก็คงไม่อยากให้คนที่เรารักและสัมพันธ์ด้วยเสียเปรียบ ดังนั้นการมองในทัศนะที่ให้ทุกคนรู้นิเวศวิทยา โดยนำหลักการทางนิเวศวิทยาและความคิดเชิงระบบไปใช้ น่าจะเป็นโมเดลที่จะนำความสมานฉันท์มาสู่สังคมของเราได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น