หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่กำหนดให้มีความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน โดยมีอีก 2 เงื่อนไขกำกับคือ คุณธรรม และ ความรู้ ซึ่งเงื่อนไขสองประการหลังที่ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญ เพราะการทำอะไรก็แล้วแต่จะต้องมีความรู้ ยิ่งความรู้ในโลกนี้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ดังจะเห็นว่ามีสาขาวิชาใหม่ๆ เกิดขึ้นในทางที่จะช่วยให้ ทุกชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่ก็ไม่แน่ว่าจะทำให้เกิดความสงบสุขมากขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้เพราะเป็นไปได้ว่าคนอาจนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด คนอาจนำความรู้ไปใช้ในทางที่ทำให้การฉ้อฉลได้แนบเนียนขึ้น หรือยิ่งพัฒนาไปใช้ในการโกงได้มากขึ้น ดังที่ดิวอี้ปรมาจารย์ทางการศึกษาได้เคยกล่าวไว้ ดังนั้นการที่จะต้องมีเงื่อนไขทางด้านคุณธรรมกำกับไว้จึงมีความเหมาะสม ที่จะส่งเสริมการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงในสามประการแรกมาใช้

ปัญหาของประเทศตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และ ระดับประเทศนั้นมาจากสิ่งที่ขัดกับหลักการสามประการ คือความไม่พอประมาณ ไม่มีเหตุผล และ ไม่มีภูมิคุ้มกัน ถ้าเรายกตัวอย่างที่เราประสบอยู่ เช่นหนี้สินของครู และหนีสินของเกษตรกร ซึ่งมีตัวบ่งชี้ที่หนีสินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ทั้งเกษตรกร และครูถือว่าเป็นอาชีพที่สำคัญ การเป็นหนี้ถือว่าอ่อนแอ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมมากมาย ครูที่เป็นหนี้สินคงจะไม่มีเวลาที่จะคิดสอนเด็กนักเรียนให้ได้ดี เพราะต้องแบ่งความคิดไปแก้ปํญหาตัวเองส่วนหนึ่ง เด็กนักเรียนที่ไม่ได้รับการดูแลก็จะไปสร้างปัญหาต่อไป เกษตรกรที่เป็นหนี้สินอาจมีสาเหตุจากหลายสาเหตุ เช่นการทำเกษตรไม่ได้ผล รายได้ต่ำไม่พอกับรายจ่าย ไม่สามารถดูแลครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ และมีส่วนในการก่ออาชญกรรมต่างๆ ตามมา

แต่เมื่อมีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวหลักยึดถือ มีความเป็นเป็นได้ว่าจะสามารถที่จะแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้เพราะเมื่อค้นไปยังปัญหาที่แท้จริง นั้นส่วนมากมาจากความไม่พอประมาณ ความไม่มีเหตุผล และไม่มีภูมิคุ้มกัน การจะทำให้ผู้คนเข้าใจถึงความสัมพันธ์เกี่ยวโยงทั้งหมดของหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ต้องเปลี่ยนความเชื่อและทัศนคติหลายอย่างของผู้คนในทุกระดับ ว่าสังคมที่พัฒนา อยู่ดีมีสุขนั้น ไม่ใช่เงินเพียงอย่างเดียว แต่การมีชีวิตอยู่ตามอัตภาพถือว่าเป็นความสัจจริงที่ทุกคนจะต้องให้ความเคารพ การอยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆ ไร้พันธนาการน่าจะเป็นความสุขที่แท้จริงมากกว่าการต้องมีวัตถุมากมาย ดังนั้นการพอประมาณ กับการมีเหตุผลต้องอยู่ควบคู่กันไปเสมอ จะพอประมาณได้แค่ไหนก็อยู่ที่เหตุและผล ส่วนการจะมีภูมิคุ้มกันนั้นเป็นการป้องกัน เพื่อความมั่นคง เพื่อความไม่ประมาท เพราะทุกสิ่งทุกอย่างยังมีความไม่แน่นอน จะต้องมีการบริหารความเสี่ยงในทุกระดับซึ่งมีความสมเหตุสมผลที่จะต้องมีการเผื่อส่วนนี้ไว้ ทำไมจะต้องมีการออมไว้เพื่อฉุกเฉิน ทำไมต้องมีการประกันต่างๆ เป็นต้น

โดยสรุป การกระทำทุกอย่างตามปรัชญาเศษฐกิจพอเพียงดังกล่าวแล้วตั้งอยู่บนความมีเหตุผลเป็นหลักสำคัญ และความมีเหตุผลจะมีได้ก็ต้องมีความรู้ และคุณธรรมกำกับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น