หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาในสังคมประชาธิปไตย

ในสังคมประชาธิปไตยจะต้องเอาศักยภาพที่มีอยู่ในตนออกมาช่วยสังคม การสกัดกั้นเสรีภาพทำให้คนที่มีความคิด มีสติปัญญาไม่สามารถใช้ความสามารถแก่สังคม เสรีภาพเป็นช่องทาง ที่จะให้ศักยภาพของบุคลลแต่ละคนออกมามีส่วนในการสร้างสรรสังคม

สังคมประชาธิปไตยจึงเป็นสังคมของการให้มากกว่าการรับ แต่กลายเป็นการเรียกร้องเพื่อให้ได้รับมากกว่าการให้ การให้ถูกลืมไปหรือทำให้ลืมไป หันไปเน้นที่ความอยากได้ กลายเป็นเสรีภาพของนักเสพ ไม่ใช่เสรีภาพของนักสร้างสรร

ในสังคมประชาธิปไตยความเสมอภาคที่แท้มีความหมายที่สำคัญคือ มีความเสมอภาคในการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ ความเสมอภาคด้านการให้ มีด้านการให้เป็นหลัก เป็นองค์ประกอบ อย่าให้เป็นความเสมอภาคเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ ซึ่งในความเป็นจริงจะหาความเสมอภาคที่แท้จริงได้ยาก อย่ามองแต่ความเสมอภาคการรับเพียงด้านเดียว

สังคมประชาธิปไตยยังต้องมีสมานัตตา หรือมีตนเสมอ การเสมอที่สมานกัน มาผสมกลมกลืนเข้าด้วยกัน เสมอในสุขและทุกข์ และร่วมแก้ปัญหา อย่ากลัวว่าจะเสียเปรียบที่จะเอาให้เท่ากัน เพราะมิฉะนั้นแล้วต่างก็พยายามจะเอาให้ได้มากที่สุด ทุกอย่างควรเสมอกันในการประสานกันให้ผลประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด

ส่วนการมีภราดรภาพ จะเกิดขึ้นได้จะต้องเข้าใจความหมายเสรีภาพ และเสมอภาคในทางที่ถูกต้องไม่ใช่ในเชิงที่แบ่งแยก การจะมีมิตรภาพความเป็นพี่น้องกันได้ก็ต้องทำอะไรร่วมกัน ในการช่วยเหลือกัน สร้างสรรร่วมกัน

ปัจจัยที่เป็นสังคมประชาธิปไตย ตัองเป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ อันมีปรโตโฆษะที่เป็นปัจจัยภายนอก ที่จะต้องมีกัลยาณมิตรช่วยชักนำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้เข้าใจความจริงและรู้คุณค่าของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เข้ามาสัมพันธ์กัน และปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้น ส่วนปัจจัยภายในคือโยนิโสมนสิการ หมายถึงการรู้จักคิดพิจารณาด้วยตนเอง การรู้จักใช้ปัญญา คิดเองให้เป็นและทำให้พึ่งตนเองได้

การที่ต้องพึ่งกัลยาณมิตร อาจยังพึ่งตนเองไม่ได้ ชีวิตอาจยังไม่อิสระ ต้องขึ้นอยู่กับศรัธายังฝากความหวังไว้ที่ปัญญาคนอื่น แต่ควรจะเป็นกัลยาณมิตรที่นำคนเข้าสู่วงการศึกษา จัดสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อการเรียนรู้ของบุคคล ทำตัวเป็นสภาพแวดล้อมที่ดี จัดหาความรู้ข้อมูลมาให้ อันเป็นสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อเด็กในการพัฒนาตนเอง

นั่นก็คือครูทำหน้าที่กัลยาณมิตร เป็นผู้นำกระบวนการศึกษา จัดสิ่งแวดล้อมภายในภายนอก ฝึกโยนิโสมนสิการขึ้นในตัวคน จัดสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก เกื้อกูลแก่พวกเขามากที่สุด จัดแหล่งเรียนรู้ให้เป็นแบบอย่างที่ดี ฝึกเด็กให้สามารถเอาประโยชน์ได้จากสิ่งแวดล้อมที่เลวที่สุด สามารถมอง คิด พิจารณาให้เข้าถึงความจริงของสิงนั้นๆ และสามารถเฟ้นประโยชน์จากสิ่งนั้นๆ ไม่ว่าจะเลวร้ายแค่ไหนก็เรียนรู้เอามาใช้ได้

กิจกรรมที่จัดให้กับเด็กนั้น อย่าให้เด็กชอบใจประทับใจจนกลายเป็นการเอาใจเด็กมากเกินไป จะทำให้เด็กอ่อนแอ ควรจะฝึกให้เด็กได้สู้ทุกอย่าง บทเรียนที่ยาก กิจกรรมไม่น่าสนใจ ซึ่งต้องจัดให้ได้ดุลยภาพทั้งสองส่วน นั่นก็คือให้ใช้ทางสายกลางเป็นดีที่สุด แต่การทำบทเรียน ทำกิจกรรมให้น่าสนใจก็เพื่อชักจูงเด็กเข้าสู่การเริ่มเรียน เพื่อดึงเข้าสู่จุดเริ่มต้น แล้วต้องให้เขาเดินของเขาเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น