หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นที่แท้จริง

มหาวิทยาลัยมีคณะต่างๆ เน้นความรู้ช่วยคนจน ต้องทำให้คนยากคนจน อันเป็นคนส่วนใหญ่ของท้องถิ่นได้ประโยชน์โดยตรง ประยุกต์ความรู้ดั้งเดิมของท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ เป็นจิตวิญญาณเพื่อมวลชน ปรับแนวคิดท้องถิ่นเป็นวิญญาณของมหาวิทยาลัย ปรับแนวคิด ของอาจารย์ ปรับโครงสร้างทั้งหมดให้สอดรับกับแนวคิดและนโยบายเพื่อท้องถิ่น ให้เป็นกระบวนทัศน์อันหมายถึงวิธีคิดวิธีปฏิบัติ วิธีการให้คุณค่า ต้องเกิดกระบวนทัศน์ใหม่ เป้าหมายใหม่ที่จะอ้างว่าเพื่อท้องถิ่น


มหาวิทยาลัยจะต้องรุกออกไปสู่ชุมชน ยอมเดินไปหาท้องถิ่นเอง ไม่รอให้ท้องถิ่นวิ่งเข้ามาหา หรือทำตัวเป็นศูนย์กลาง สร้างความคุ้นเคยกันจนสามารถร่วมไม้ร่วมมือกันในการพัฒนาท้องถิ่น ขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับชาวบ้าน ให้โอกาสคนที่มีความรู้น้อย ทำให้ชาวบ้านค้าขายเป็น มีความรู้ในการจัดการทรัพยากรของตนเอง โดยพัฒนาการบริหารจัดการ การทำบัญชี การปันผล การลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ให้มีการบริหารจัดการที่ดี ให้ผลกำไรกลับสู่สมาชิกในท้องถิ่น ปรับประยุกต์ฝีมือและเพิ่มคุณค่าให้ผลผลิตของตนเอง ให้สามารถเข้าถึงสังคมที่กว้างไกลกว่า ไม่เฉพาะหมู่บ้าน สังคมเมืองทั่วประเทศ และต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยควรจะได้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษา และปฏิบัติการอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นมีศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น การวิจัยเกี่ยวกับท้องถิ่น นำมาสังเคราะห์เพื่อเสนอทิศทางนโยบายการพัฒนาท้องถิ่นอย่างจริงจัง ได้สัมผัสท้องถิ่น ส่งเสริมให้ชุมชนมีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับชุมชน มีนักศึกษาและอาจารย์ที่เข้าไปเรียนรู้จากการให้บริการชุมชนและท้องถิ่น มีทีมสัญจรเพื่อสนับสนุน การเรียนรู้ของชุมชน อำนวยความสะดวกให้ชาวบ้าน ลงไปสัมพันธ์กับชาวบ้าน กับชุมชนจริงๆ การเรียนการสอนมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับชุมชนโดยตรง ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชน ให้เขารู้สึกท้าทายอยากกลับไปทำงานในชุมชน

มหาวิทยาลัยต้องเป็นสถาบันของชาวบ้านและคนของท้องถิ่นอย่างแท้จริงมหาวิทยาลัยเป็นเหมือนตัวเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างสังคมชนบทและเมื่อง สังคมใหม่และดั้งเดิม รวมไปถึงสังคมไทยกับสังคมโลก การเข้าถึงข้อมูลทุกบ้าน ข้อมูลปัญหา และศักยภาพ ข้อมูลผู้นำ ข้อมูลกิจกรรมอาชีพ การเข้าถึงท้องถิ่นได้ไม่ยากถ้ามีการพัฒนาโครงการร่วมกัน เป็นภาคีเท่าเทียมกัน และคิดให้ไร้พรมแดน แต่ปฏิบัติได้ในท้องถิ่น โดยการ สร้างฐานอำนาจของตัวเองของคนที่แท้จริง คือความรู้ วิชาการที่พัฒนาขึ้นจากท้องถิ่น จากฐานองค์กรประชาชนในท้องถิ่น

มหาวิทยาลัยเป็นกลไกของประเทศที่ใช้ปัญญาช่วยแก้ปัญหาของประเทศหรือประชาชน เกาะติดประชาชน รู้สึกร้อน รู้สึกหนาวร่วมกับประชาชน มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อก้าวตามโลกให้ทัน ปรับจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง พัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการที่เชื่อมความรู้ดั้งเดิม ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาไทย กับความรู้สมัยใหม่ โดยประสานให้เกิดความรู้ ใหม่จากรากฐานเดิมที่มีอยู่ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ยั่งยืน เป็นอำนาจที่พัฒนาจากวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ชาวบ้านช่วยกันปกป้องและพัฒนาตัวเองขึ้น นับเป็นความยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยที่มาจากวิญญาณแห่งการรับใช้ท้องถิ่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น